ส่วนประกอบของสติ๊กเกอร์

เนื่องจากสติ๊กเกอร์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์มีหลากหลายชนิดสำหรับการใช้งานที่แตกต่างกัน แต่โรงพิมพ์หรือผู้ใช้งานสติ๊กเกอร์ที่ยังไม่มีประสบการณ์กับงานสติ๊กเกอร์มากนักอาจจะเลือกใช้ชนิดของสติ๊กเกอร์ที่ไม่เหมาะสมกับระบบการพิมพ์หรือประเภทการใช้งาน ดังนั้นเรามาทำความเข้าใจส่วนประกอบเบื้องต้นของสติ๊กเกอร์กันก่อนครับ โดยทั่วไปแล้วสติ๊กเกอร์มีชั้นที่สำคัญ 3 ชั้น ซึ่งแต่ละชั้นก็มีหน้าที่แตกต่างกันดังนี้

  • ผิวหน้า (Surface) : เป็นชั้นที่อยู่บนสุดและเป็นชั้นที่รับหมึกพิมพ์โดยตรง โดยอาจจะมีการเคลือบสารเคมีต่างๆ (topcoat) หรือใช้ความร้อนทำให้ผิววัสดุมีรูพรุน (corona treatment) เพื่อให้วัสดุรับหมึกได้ดี โดยวัสดุที่มักใช้ทำเป็นผิวหน้า ได้แก่ กระดาษ (Woodfree paper), พีวีซี (PVC), พีพี (PP) , พีอีที(PET) และ โพลลิเอสเตอร์ (Polyester) และอาจมีส่วนผสมของเมทัลลิคเพื่อให้วัสดุมีความวาวสวยงามเหมือนโลหะ ซึ่งวัสดุแต่ละประเภทอาจจะต้องใช้หมึกหรือระบบการพิมพ์ที่แตกต่างกัน
  • กาว (Adhesive) : เป็นชั้นที่ทำให้สติ๊กเกอร์แตกต่างจากวัสดุสำหรับงานพิมพ์ประเภทอื่น โดยชั้นกาวมีหน้าที่สำหรับยึดติดกับพื้นผิวต่างๆ เช่น กระดาษ, แก้ว, พลาสติก, ซีเมน, กระจก, ฯลฯ อย่างไรก็ตามโรงพิมพ์หรือผู้ใช้งานมักจะไม่ค่อยทราบรายละเอียดในส่วนนี้เพราะค่อนข้างจะหลากหลายและไม่เห็นด้วยตาเปล่า โดยหลักแล้วกาวที่เคลือบบนสติ๊กเกอร์จะแบ่งได้เป็น 3 ประเภทเพื่อความเหมาะสมในการใช้งานคือ
     
    • กาวสำหรับติดแบบถาวร (permanent adhesive) มีระดับความเหนียวหรือแรงยึดติดที่หลากหลายตามความเหมาะสมของการใช้งานและงบประมาณในการผลิตชิ้นงาน
    • กาวสำหรับติดชั่วคราวเมื่อลอกออกจะไม่ทิ้งคราบกาว (removable adhesive) มีระดับความเหนียวหรือแรงยึดติดไม่มากนัก แต่จะไม่ทิ้งคราบกาวบนพื้นผิวเมื่อมีการลอกออก

    • กาวพิเศษสำหรับการใช้งานเฉพาะ (specialty adhesive) เป็นกาวชนิดพิเศษสำหรับงานเฉพาะเจาะจง เช่น กาวห้องเย็น (frozen adhesive) สำหรับติดกับพื้นผิวที่ต้องแช่ในห้องที่เย็นจัดติดลบมากกว่า -20 องศา หรือ กาวติดยางรถยนต์ (tire adhesive) ที่ต้องการชั้นกาวที่หนาเป็นพิเศษ

  • วัสดุรองหลัง (Release Liner) :  เป็นชั้นที่มีหน้าที่รองรับผิวหน้า (surface) และรักษาความสะอาดของชั้นกาว (adhesive) ก่อนการใช้งาน โดยวัสดุรองหลังจะมีการเคลือบ PE และซิลิโคน (silicon) เพื่อให้ลอกออกง่ายเมื่อต้องใช้งาน โดยวัสดุรองหลังนี้มักทำมาจาก กระดาษคราฟเยื่อผสม (PE kraft paper), กระดาษคราฟ (kraft paper) และกระดาษกลาสซีน (glassine paper) โดยวัสดุรองหลังมีความสำคัญกับกระบวนการพิมพ์งาน (press process) เช่น ต้องใช้กระดาษรองหลังที่มีความคงรูปเมื่อผ่านความร้อนสูงเหมาะสำหรับระบบพิมพ์เลเซอร์ (on-demand) หรือ หลังพิมพ์งาน (post press process) เช่น กระดาษหลังกลาสซีนสำหรับระบบการพิมพ์แบบม้วน, กระดาษโฟโต้สำหรับงานพิมพ์สกรีน เป็นต้น

    ด้วยประสบการณ์ของเราในการเป็นผู้จัดจำหน่ายสติ๊กเกอร์สำหรับงานพิมพ์แบบอุตสาหกรรมมากว่า 20 ปี เรายินดีและพร้อมให้ปรึกษาแก่ลูกค้าทุกท่านในการเลือกชนิดสติ๊กเกอร์ที่ถูกต้องเพื่อลดต้นทุนและลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นกับงานพิมพ์หน้าการใช้งาน

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้